การละเมิด
ละเมิดคืออะไร :
ละเมิด คือ การกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลภายนอกโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เขา (ผู้ถูกกระทำ) เสียหายแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือ สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี กฎหมายถือว่าผู้นั้นทำละเมิดจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น (ป.พ.พ.ม. 420)
สรุปการกระทำใดจะเป็นละเมิดต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ
1. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย
ซึ่งหมายถึงการประทุษกรรม กระทำต่อบุคคลโดยผิดกฎหมาย ด้วยอาการฝ่าฝืนต่อความหมายที่ห้ามไว้ หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นต้นว่า ฆ่าเขาตาย, ทำร้ายร่างกายเขา,ขับรถโดยประมาท ชนคนตายและทรัพย์สินของเขาเสียหาย ฯลฯ
2. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
กระทำโดยจงใจ คือ การะทำโดยรู้สำนึกและในขณะเดียวกันก็รู้ว่าจะทำให้เขาเสียหายเช่น เจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้าย ฯลฯ อย่างไรก็ดี การกระทำโดยจงใจในเรื่องละเมิดถือหลักเบาบางกว่าทางอาญา สำหรับอาญานั้นต้องกระทำโดยรู้สึกสำนึกในการที่ทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลด้วย ส่วนจงใจในเรื่องละเมิดบางกรณีไม่ผิดในทางอาญา แต่เป็นละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา เช่น จำเลยรื้อห้องน้ำ ห้องครัว ซึ่งโจทย์ปลูกล้ำออกไปนอกที่เช่าของวัด โดยวัดต้องการจะขุดคูได้บอกให้โจทย์รื้อแล้วโจทย์ไม่ยอมรื้อการที่จำเลยรื้อแล้วกองไว้หลังบ้านโจทย์ มิได้เจตนาชั่วร้ายทำให้ทรัพย์ของโจทย์อันตรายเสียหายไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่เป็นละเมิด เพราะรู้ว่าแล้วว่าการรื้อนั้นจะทำให้ทรัพย์ของโจทย์เสียหาย (ฎีกาที่ 1617-1618/2500)
คำว่าประมาทเลินเล่อในทางแพ่งหมายความถึง การกระทำที่ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น และหมายความถึงการไม่ป้องกันผลที่เกิดขึ้นโดยประมาทเลินเล่อแม้ตนเองไม่ได้กระทำให้เกิดผลนั้นขึ้นระดับความระมัดระวังของบุคคลต้องถือระดับบุคคลธรรมดา
ตัวอย่าง เช่น นาย ก. ขับรถยนต์ไปในถนนที่มีคนเดินจอแจ ด้วยความเร็วและไม่ได้ให้สัญญาณแตรแล้วเฉี่ยวชนถูกคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ถือว่า นาย ก.กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ
3. ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
โดยปกติ ผู้กระทำต้องรับผิดเฉพาะการกระทำของตน แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องละเมิดถ้าได้มีการกระทำละเมิดร่วมกัน หรือแม้มิได้ร่วมแต่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดดังนี้ บุคคลเหล่านี้จะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น (ป.พ.พ.ม. 432)
ในบางกรณีแม้จะไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดหรือยุยงส่งเสริม หรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดแต่กฎหมายบัญญัติให้ต้องร่วมผิดกับผู้ละเมิด ได้แก่กรณีต่อไปนี้
3.1 นายจ้างจะต้องรับผิดชอบกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่นายจ้างนั้น (ป.พ.พ.ม. 432)
เรื่องนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำในทางการที่จ้างนี้มีกรณีที่ผู้เสียหายพึงต้องระมัดระวัง คือ อย่าตัดสินใจประนีประนอมยอมความกับลูกจ้าง เพราะถ้าประนีประนอมยอมความกับลูกจ้างไปแล้ว หนี้อันเกิดจากมูลละเมิดก็ระงับสิ้นไปเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้นายจ้างพ้นจากความรับผิด ผู้เสียหายจะต้องฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดในมูลหนี้ละเมิดก็ไม่ได้เพราะหนี้ละเมิดระงับไปแล้ว จะฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมก็ไม่ได้ เพราะนายจ้างมิได้เป็นคู่สัญญา ถ้าลูกจ้างไม่มีทรัพย์สินจะชำระหนี้ ผู้เสียหายก็สูญเปล่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ทางแก้ในเรื่องนี้ต้องให้นายจ้างตกลงเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับลูกจ้าง โดยมีบุคคลค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาด้วย
3.2. ตัวการต้องรับผิดชอบกับตัวแทนในผลละเมิด ซึ่งตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทน (ป.พ.พ.ม. 429)
3.3 บิดามารดาของผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาลของผู้วิกลจริตจะต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตกระทำ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 429 )
3.4. ครูอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ หรือชั่วครั้งคราว จะต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าครูบาอาจารย์ นายจ้างหรือบุคคลอื่นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (ป.พ.พ.ม. 430)
3.5 เจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายอันเกิดจากสัตว์ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะเกิดมีขึ้น ทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น (ป.พ.พ.ม. 433)
อนึ่ง การกระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายนี้ มีหลักในการวินิจฉัยความรับผิดว่า ให้พิจารณาว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดกฎหมายหรือไม่ และความเสียหายเกิดจากการกระทำผิดนั้นหรือไม่ ถ้าบุคคลนั้นทำผิดกฎหมายและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย บุคคลนั้นก็ต้องรับผิดจากฐานละเมิด
ตัวอย่าง เช่น จำเลยแจ้งให้กำนันจับรถยนต์บรรทุกของโจทย์ยึดไว้ 39 วัน โดยจำเลยหาว่านางเน้ยเป็นคนร้ายลักข้าวที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์ของโจทย์ ทั้งๆที่คนรถของโจทย์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่ารถคันนี้เป็นของโจทย์เพียงแต่มารับจ้างไม่เกี่ยวข้องกับข้าวเปลือกที่จำเลยกับนายเน้ยโต้เถียงสิทธิกัน ขออย่ายึดรถไว้ จำเลยไม่ยอมกลับแจ้งให้กำนันยึดรถของโจทย์ไว้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ยืนยันให้กำนันเป็นผู้ยึดรถ ซึ่งมิใช้ของนายเน้ยผู้ต้องหามาเป็นของกลางโดยความจำเป็น และเป็นการแกล้งโจทย์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทย์ จำเลยต้องรับผิด (ฎีกาที่ 1447 /2503)
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด :
ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิด ซึ่งที่ได้รับความเสียหายจะพึงได้รับนั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล ศาลจะเป็นองค์กรกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด (ป.พ.พ.ม. 438)
หลักทั่วไปโดยปกติค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าเสียหายอันพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
ตัวอย่าง เช่น นาย ก. ลักเอารถจักรยานยนต์รับจ้าง ราคา 50,000 บาท ของนาย ข.ไปรถคันนี้ นาย ข. นำออกวิ่งรับจ้างได้วันละ 200 บาท ดังนี้ค่าสินไหมทดแทนคือ นาย ก. ต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นาย ข. ถ้าคืนไม่ได้ต้องใช้ราคารถ 50,000 บาทแก่นาย ข. และนาย ข. ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายวันละ 200 บาท ตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องพร้อมทั้งค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันชำระหนี้ได้ด้วย
บางกรณีกฎหมายกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้โดยเฉพาะดังนี้
1. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ทำให้เขาถึงตาย ผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังนี้
(1) ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น เช่นค่ารถบรรทุกศพ ค่าโลงศพ ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้วัด ค่าดอกไม้ ค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศล
(2) ค่าขาดไร้อุปการะ ต้องเป็นกรณีค่าขาดอุปการะตามกฎหมายเช่น บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น
(3) ค่าขาดแรงงาน ถ้าผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกแก่ครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าขาดแรงงานให้แก่บุคคลภายนอกด้วย
(4) ถ้ายังไม่ตายทันที เรียกค่ารักษาพยาบาล และค่าประโยชน์ทำมาหากินได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้
2. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย ผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
(1) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็น
(2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วย
(3) ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน ทั้งเวลาปัจจุบันและอนาคต เช่น ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนพิการไม่สามารถประกอบการงานได้
(4) ค่าเสียหายที่ขาดแรงงานในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของคนภายนอก
(5) ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น ค่าสินไหมที่ต้องตัดขา หน้าเสียโฉมติดตัว ขาพิการ ค่าเสียอนามัยที่ต้องนอนทรมาน เป็นต้น
|